ข้าวอินทรีย์กุดชุม ยาวิเศษ จากข้าวพื้นเมืองอีสาน
ข้าวอินทรีย์กุดชุม
จากจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพ เราขับรถผ่าน สระบุรี-โคราช-สุรินทร์และขับตรงไปเรื่อยๆ โดยใช้เส้นทางถนน 214 รวมระยะทางการเดินทาง 531 กิโลเมตรในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทาง คือ จังหวัดยโสธร เพื่อมาเยี่ยมชมนาข้าวอินทรีย์ของอำเภอกุดชุม ในครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในแกนนำกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองคือ นายวรรณา ทองน้อย บ้านเลขที่ 515 หมู่ที่ 16 ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร 35140 โทรศัพท์ 08-0466-3590 ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบที่คนในท้องถิ่นเรียกกันติดปากว่า “พ่อวรรณา”พ่อวรรณา เล่าถึงที่มาของกลุ่มฯ ว่า เมื่อปี 2540 กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกยโสธร ได้สำรวจการปลูกข้าวพื้นเมืองในท้องถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์พบว่า ชาวบ้านปลูกอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพียงไม่กี่สายพันธุ์ โดยกลุ่มข้าวดอ พันธุ์ข้าวเบา) ที่พบได้แก่ข้าวดอป้องแอ้ว ข้าวดอหางยี ฯลฯ และกลุ่มข้าวหนัก เช่น ข้าวลอย (เป็นข้าวขึ้นน้ำ ต้นข้าวจะยืดตัวสูงน้ำท่วมได้) ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข.6 เท่านั้น
เครือข่ายเกษตรกรทางเลือกยโสธรจึงชักชวนให้สมาชิกหันมาปลูกและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ปรากฏว่า มีเพียงพ่อวรรณาและสมาชิกอีก 11 รายที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ในงานมหกรรมข้าวอีสารที่ดอนแดง ในระยะแรกพวกเขาสามารถรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ได้แค่ 10 สายพันธุ์เท่านั้น ต่อมาปี 2551 ทางกลุ่มฯ ได้รับสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำนวน 6 สายพันธุ์จาก โครงการข้าวคืนนา ของธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว กรมการข้าว จนถึงปัจจุบันทางกลุ่มฯ สามารถรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่า 36 สายพันธุ์ ที่สามารถกระจายพันธุ์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น
สำหรับกลุ่มข้าวเบาที่มีในโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว ได้แก่ ข้าวนาหก ข้าวหวิดหนี้ ข้าวปลาเข็ง ฯลฯ ส่วนข้าวอายุกลาง ได้แก่ ข้าวสันป่าตอง ข้าวหอมนางนวล ข้าวเล้าแตก ข้าวหอมเสงี่ยม ฯลฯ สำหรับกลุ่มข้าวหนัก ได้แก่ ข้าวขาวใหญ่ ข้าวเนื้อแดง ข้าวสันประหลาด ข้าวพม่า ฯลฯ
พ่อวรรณาบอกว่า ทุกวันนี้ พวกเรา มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยมีข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มว่า สมาชิกทุกคนต้องนำข้าวพื้นเมืองไปลูกในแปลงข้าวตัวเอง และกระจายพันธุ์สู่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลกำแมด ตำบลนาโขง ตำบลโนนเปือย เขตอำเภอกุดชุม และอำเภอทรายมูล ปัจจุบันมีชาวนาสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 รายแล้ว
ทุกวันนี้ผืนนาของพ่อวรรณาเปรียบเสมือนห้องเรียนแห่งการเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของสมาชิกในกลุ่มฯ หากสมาชิกสนใจข้าวพันธุ์ใดที่สามารถรับพันธุ์ไปปลูกได้ฟรี แต่ชาวนาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะต้องนำ ข้าวปลูกพันธุ์อื่นมาแลกเปลี่ยนกับทางกลุ่มฯ จึงจะรับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปปลูกได้
พ่อวรรณาบอกว่า ในแต่ละปี ชาวนาจะจัดประเพณี บุญกุ้มข้าวใหญ่ ในช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยว และทำบุญสู่ขวัญข้าว บูชาพระแม่โพสก เพื่อตระหนักถึงบุญคุณและคุณค่าของข้าวไทย ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเกษตรกรชาวนาทางเครือข่ายข้าวอินทรีย์ จ.ยโสธร ก็จะถือโอกาสจัดโครงการรณรงค์ทำนาอินทรีย์ ไม่พึ่งพาสารเคมี เพื่อไม่ทำลายตนเอง ไม่ทำลายผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรม อันดี ของเครือข่ายชาวนาอินทรีย์ใน จังหวัดยโสธร
เครือข่ายฯ จะจัดกิจกรรมประจำปี คือ แลกเปลี่ยนข้าว เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว ขณะเดียวกันก็แจก เมล็ดพันธุ์พืช เช่น เมล็ดข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกนำไปปลูกเพื่อขยายผลทั้งทางด้านการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มสมาชิกที่สนใจ อีกทางหนึ่ง กิจกรรมดังกล่าว นับเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ระหว่างสมาชิกเครือข่าย ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการเกษตรอินทรีย์และการทำนาอินทรีย์ในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงดิน การคัดพันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ การกำจัดวัชพืช การทำน้ำหมัก การจัดเก็บรักษาข้าว การแปรรูปข้าว ฯลฯ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่ช่วยกันพัฒนาระหว่างสมาชิกและผู้สนใจทั่วไปได้เข้าร่วมประชุมในกิจกรรมนี้ เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน ขณะเดียวกันเป็นการรณรงค์ให้ชาวนาหันมาทำนาอินทรีย์ โดยไม่ให้พึ่งสารเคมี ไม่ทำลายตนเอง ไม่ทำลายคนอื่น และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่กับชาวนาอย่างยั่งยืน
“ยาวิเศษ” จากข้าวพื้นเมืองอีสาน
พ่อวรรณาบอกว่า ปู่ย่าตายายของพวกเราได้สะสมยาวิเศษเป็นยามรดกแก่ลูกหลานอยู่จำนวนมาก นั่นก็คือพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก) ได้จัดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำนวน 30 สายพันธุ์ ให้แด่ รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย แห่งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อนำไปศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมืองผลการศึกษาพบว่า ข้าวพื้นเมืองหลายชนิดมีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็งได้ดีเยี่ยม เช่น ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวจ้าวมะลิดำ ข้าวเจ้าแดง ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว ข้าวเหนียวแสนสบาย ข้าวเหนียวสันปลาหลาด เพราะข้าวกลุ่มนี้มีวิตามินอี (แกมมาโทโคไทรอีนอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ของร่างกาย ซึ่งกระตุ้นให้เกิด การตายของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระจกตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
สำหรับคนที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ควรรับประทานข้าวเหนียวก่ำใหญ่ หรือข้าวเหนียวนางหกเพราะข้าวทั้งสองชนิดนี้มี “เบต้าแคโรทีน” ในสัดส่วนที่สูงเบต้าแคโรทีนจะทำหน้าที่บำรุงสายตาและไม่เกิดโรคต้อกระจกหรือสายตาเสื่อมก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเหนียวก่ำน้อย ยังมีสารอาหารประเภท ลูทีนและซีแซนทีน ในปริมาณมาก ช่วยป้องกันภาวะเสื่อมของจอตา และจอประสาทเสื่อมอย่างเฉียบพลันได้ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
หากใครต้องการหลีกเลี่ยงโรคเบาหวาน ขอแนะนำให้หาข้าวพื้นเมืองเช่น ข้าวเจ้ามะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวก่ำน้อย ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว ไว้บริโภคในครัวเรือน เพราะข้าวกลุ่มนี้ มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและต่ำทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และยังมีสารโพลีฟินอล ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ลดการอักเสบในโรคต่างๆ
ส่วนสตรีที่ตั้งครรภ์ ต้องได้รับสารโฟเลตให้เพียงพอสำหรับการพัฒนา DNA ของลูกในครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปากแหว่งเพดานโหว่ในทารกแรกเกิด จึงแนะนำให้สตรีมีครรภ์หันมาบริโภคข้าวพื้นเมือง ที่มีโฟเลตสูงสุดคือข้าวเจ้าเหลือง (สีน้ำตาลเข้ม) เพราะมีโฟเลตสูงถึง 116.47 ไมโครกรัม/100 กรัม รองลงมาคือ ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวลำตาล ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวสันปลาหลาด ข้าวเหนียวขาวใหญ่ และข้าวเจ้ามะลิแดง
ส่วนข้าวพื้นเมืองที่มีธาตุเหล็กมรปริมาณสูง คือข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวปลาเข็ง ข้าวเหนียวดอหาง ส่วนข้าวที่มีธาตุทองแดงปริมาณสูง ได้แก่ ข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวดอหางฮี ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวอิด่าง ข้าวเจ้ามะลิแดง
สำหรับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีวิตามินบี 1 ในปริมาณมากได้แก่ ข้าวกล้องงอก และข้าวเหนียวก่ำใหญ่ ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวเหนียวเล้าแตก ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวดอหางฮี ส่วนผู้ที่มีร่างกายอ่อนเพลีย ต้องการอาหารเสริมบำรุงกำลังควรหาข้าวเหนียวมาบริโภค โยเฉพาะข้าวเหนียวป้องแอ้ว, ข้าวเหนียวขาวใหญ่, ข้าวเหนียวยืนกาฬสินธุ์, ข้าวมะลิดำ ฯลฯ เพราะข้าวกลุ่มนี้ เพราะมีสารอาหารที่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สามารถนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มบำรุงสำหรับนักกีฬา และผู้ป่วย
หากหนุ่มสาวรายใดไม่อยากเป็นหมัน ควรบริโภคข้าวเหนียวก่ำใหญ่ (ข้าวกล้อง) มีปริมาณธาตุสังกะสีมากถึง 3.04 มิลลิกรัม/100 กรัม รองลงมาคือ ข้าวเหนียวแดง ข้าวหอมนิล ข้าวก่ำเปลือกขาว ข้าวนางหก ข้าวเจ้าเหลือง นี่คือ คุณค่าความมหัสจรรย์ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่พ่อวรรณาอยากให้คนไทยรู้จัก เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยในยุคนี้ ที่จะบริโภคข้าวเป็นยาบำรุงสุขภาพ...ก่อนป่วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น